ธุรกิจงานแสดงสินค้าอุตสาหกรรม ปี 59 รุ่ง หลังเศรษฐกิจไทยส่งสัญญาณฟื้นและการค้าการลงทุนใน AEC โต ด้าน บีอีเอส ลั่นพร้อมดันไทยเป็นศูนย์กลางงานแสดงสินค้า อุตสาหกรรมนานาชาติ คาดปีนี้มีเงินหมุนเวียนจากการจัดงานรวมกว่า 31,000 ล้านบาท
เศรษฐกิจไทยปี 59 ส่งสัญญาณฟื้นจากแนวโน้มการลงทุนและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ พร้อมได้รับอานิสงค์การค้าการลงทุนในกลุ่ม AEC เติบโต ฟากเอกชนสบช่องเร่งยกเครื่องเทคโนโลยีการผลิตและพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจทำธุรกิจงานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมปี 59 รุ่ง ด้าน
มร.จัสติน พาว ผู้จัดการทั่วไป บริษัท แบงค็อค เอ็กซ์ซิบิชั่น เซอร์วิสเซส จำกัด (BES) กล่าวถึงภาพรวมของธุรกิจการจัดงานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมนานาชาติของไทยว่า ปีที่ผ่านมาแม้ไทยจะประสบกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แต่ธุรกิจการจัดงานแสดงสินค้าโดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมยังสามารถเติบโตได้ประมาณ 15-20% จากการที่ผู้ผลิตและผู้ประกอบการธุรกิจต่างเล็งหาโอกาสและลูกค้ากลุ่มใหม่เพิ่มขึ้น โดยอาศัยช่องทางการร่วมออกงานแสดงสินค้าที่มีชื่อเสียงเป็นที่สนใจของเหล่านักธุรกิจที่เข้าร่วมชมงาน ซึ่งนับว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ากว่าช่องทางอื่นเนื่องจากสามารถพบกับลูกค้าเป้าหมายได้จำนวนมากในช่วงเวลาเดียวกัน พร้อมทั้งสามารถปิดการขายได้ในทันที
ส่วนแนวโน้มในปีนี้ (2559) ธุรกิจการจัดงานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมยังสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว การเติบโตทางด้านการค้าการลงทุนภายในกลุ่ม AEC รวมถึงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลไทย จากปัจจัยดังกล่าวทำให้ฝากเอกชนมีความเชื่อมั่นในการลงทุนเพื่อที่จะพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิตสินค้าและบริการให้มีศักยภาพทางการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น ทำให้ธุรกิจการจัดงานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมปีนี้มีแนวโน้มที่คึกคักกว่าหลายปีที่ผ่านมาก
สำหรับแผนการจัดงานสินค้าอุตสาหกรรมนานาชาติของ บีอีเอส ในปีนี้มีทั้งหมด 6 งาน โดยเป็นงานที่จัดขึ้นในประเทศไทย 2 งาน ประกอบด้วย งานโพรแพ็ค เอเชีย (ProPak Asia) แสดงสินค้าอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีกระบวนการผลิต การแปรรูปอาหาร เครื่องดื่ม เวชภัณฑ์ และ บรรจุภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดของเอเซีย และ งานฟู้ด แอนด์ โฮเทล ไทยแลนด์ (Food & Hotel Thailand) งานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมอาหารและบริการระดับนานาชาติ มีพื้นที่
การจัดงานรวมกันกว่า 65,000 ตารางเมตร เติบโตเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 15-20 % และ คาดว่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนจากการจัดงานรวมกันถึง 31,000 ล้านบาท
นอกจากนั้น บีอีเอส ยังมีการจัดงานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมขึ้นในประเทศเมียนมาร์อีก 4 งาน ครอบคลุมในหลายอุตสาหกรรม ประกอบด้วย งานฟู้ด แอนด์ โฮเทล เมียนมาร์ (Food & Hotel Myanmar) งานโพรแพ็ค เมียนมาร์ (ProPak Myanmar) งานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมด้านการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ, งานคอนสตรัคชั่น พาวเวอร์ ไมน์นิ่ง เมียนมาร์(Construction, Power & Mining Myanmar) งานงานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมด้านการก่อสร้าง การผลิตไฟฟ้าและพลังงานทดแทน และ เหมืองแร่ เมียนมาร์ และงาน งานคอมมูนิแคส เมียนมาร์ (CommuniCast Myanmar) โดยมีพื้นการจัดงานรวมกันกว่า 25,500 ตารางเมตร โดยการเปิดตลาดงานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมในกลุ่ม AEC โดยเฉพาะเมียนมาร์ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงและเป็นที่สนใจจากนักลงทุนทั่วโลกนั้น เป็นผลดีต่อนักธุรกิจและนักลงทุนจากประเทศไทย เนื่องจากไทยและเมียนมาร์มีความใกล้ชิดกันในหลายมิติทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ทำให้สินค้าและนักลงทุนจากไทยมีโอกาสที่จะเข้าไปเปิดตลาดและดำเนินธุรกิจในเมียนมาร์มากกว่าชาติอื่น
สำหรับนโยบายและทิศทางในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยของ บีอีเอส ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทในกลุ่มออลเวิร์ล เอ็กซ์ซิบิชั่น อีเวนท์ (An Allworld Exhibitions Event) ผู้จัดงานอีเวนท์ใหญ่ที่สุดของโลกได้มีการวางกลยุทธ์ในการผลักดันให้ไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์และเป็นศูนย์กลางในการจัดงานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมของภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากมองว่าประเทศไทยยังมีศักยภาพและพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งมีความสามารถในการพัฒนาไปได้อีกมากหากการเมืองภายในประเทศมีความสงบและเศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้นเชื่อว่าประเทศไทยก็จะกลับมาเป็นหนึ่งในประเทศที่น่าลงทุนและน่าจับตามองที่สุดของอาเซียนอย่างแน่นอน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น